พิษสารเคมีทางการเกษตร

รูปภาพของ ปัทมพงษ์

ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง และปุ๋ย ยาที่ใช้เร่งมีการศึกษาข้อมูลเอาไว้ผมจึงนำมาลงไว้ในเวปนี้เผื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจและทำงานด้านการเกษตรครับ

ก่อนปี พ.ศ. 2544 กองระบาดวิทยา (ในขณะนั้น1) ได้กำหนดให้มีการรายงานโรคพิษยาฆ่าแมลงในรายงาน (รง.) 506 โดยถือเป็นโรคจากการประกอบอาชีพประเภทหนึ่งและเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานดังกล่าว มักพบเสมอว่าเป็นโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในบรรดาโรคจากการประกอบอาชีพ 7 ประเภทที่กำหนดให้รายงาน เช่น ในปี พ.ศ. 2547 มีผู้ป่วยด้วยพิษยาฆ่าแมลงกว่า 2,000 ราย (ร้อยละ 55 จากการรายงานทั้งหมด 4,252 รายทั่วประเทศ) และเมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปอีก พบว่าผู้ป่วยส่วนมากกินยาฆ่าแมลงโดยเจตนาเพื่อฆ่าตัวตาย มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นอาการเจ็บป่วยจากการใช้ยาฆ่าแมลง เช่น เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน หลังการฉีดพ่นยาในสวนผลไม้.
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมากองระบาดวิทยาได้พัฒนาแบบรายงานชุดใหม่ เรียกว่า รง.506/2 สำหรับการรายงานโรคจากการประกอบอาชีพและ สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ. โรคพิษจากยาฆ่าแมลงเดิมได้รับการจัดกลุ่มใหม่เป็น " โรคพิษจากสารเคมีการเกษตรและสารเคมีอื่นๆ ". นอกจากนั้น สำนักระบาดวิทยายังได้จัดทำแนวทางการวินิจฉัยเพื่อการรายงานโรคกลุ่มนี้ เพื่อให้แพทย์และผู้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ได้รายงานโรคที่เกิดจากการทำงานจริงๆ ไม่รวมการกินยาฆ่าตัวตายดังที่เคยเป็นมา. ผลการทดลองใช้แบบรายงานใหม่นี้ ทำให้การรายงานโรคพิษยาฆ่าแมลงลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ในปี พ.ศ. 2547 จากผู้ป่วยโรคจากการประกอบอาชีพทั้งหมดที่รายงานจำนวน 1,320 ราย พบว่าเป็นโรคพิษจากสารเคมีการเกษตรเพียง 48 ราย (ร้อยละ 4) เปรียบเทียบกับร้อยละ 55 จากการรายงานแบบเดิม และเชื่อว่าหากมีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียด จะเห็นว่าเป็นผู้ป่วยจากการทำงานจริงๆ ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย.
สารเคมีเกษตร
โดยทั่วไปแล้ว มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรหลายประเภทในประเทศไทย แต่สารเคมีที่สำนักระบาดวิทยาถือว่ามีการใช้เป็นปริมาณมากต่อปี และมักทำให้ผู้ใช้เกิดอาการเจ็บป่วยมี 3 กลุ่มใหญ่ คือ สารกำจัดแมลง สารกำจัดหนูและสัตว์แทะ และสารกำจัดวัชพืช. โดยสารกำจัดแมลงที่ใช้บ่อย คือ สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต คาร์บาเมตและไพรีทรอยด์ ขณะที่สารกำจัดหนูที่ใช้บ่อย คือ สังกะสีฟอสไฟด์ และสารกำจัดวัชพืชที่ใช้บ่อย คือ พาราควอทและกลัยโฟเสด.


พิษออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate poisoning)
โรคพิษกลุ่มนี้ เกิดจากการได้รับสารฟอสเฟตอินทรีย์ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง ทางการหายใจหรือทางปาก (กินโดยไม่เจตนา). ผู้ที่เสี่ยงต่อการได้รับสารกลุ่มนี้ คือ คนทำงานอุตสาหกรรมผลิต บรรจุ ขนส่งและจำหน่ายสารกลุ่มนี้ เกษตรกรผู้ใช้สารเคมี และพนักงานผู้ให้บริการกำจัดแมลงตามอาคารบ้านเรือนหรือสำนักงาน. นอกจากนั้น ประชาชนทั่วไปอาจสัมผัสออร์กาโนฟอสเฟตจากสิ่งแวดล้อม เช่น การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน การใช้สารเคมีกำจัดแมลงในบ้านเรือน การทำสวนปลูกต้นไม้ การนำภาชนะบรรจุสารเคมีมาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารและน้ำดื่ม เป็นต้น.

ลักษณะทางเวชกรรมหลังได้รับสารกลุ่มนี้ หากได้รับในปริมาณความเข้มข้นสูงในทันที ทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน มีอาการน้ำมูก น้ำตา น้ำลายและเหงื่อออกมาก อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย รูม่านตาหดเล็ก หัวใจอาจเต้นช้าหรือเร็ว และความดันเลือดอาจต่ำหรือสูง กล้ามเนื้อเป็นตะคริวและอ่อนแรง อาจมีอาการหายใจแผ่วจนถึงหยุดหายใจจากการที่กล้ามเนื้อช่วยหายใจบริเวณซี่โครงไม่ทำงาน บางรายอาจชัก ซึมหรือหมดสติ บางรายเกิดอัมพาตของเส้นประสาทสมอง โดยเริ่มมีอาการภายใน 2-5 วันหลังจากเกิดอาการเฉียบพลัน ทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจและเสียชีวิตได้.

การตรวจพิเศษที่นิยมใช้ คือ การตรวจระดับเอนไซม์ acetyl-cholinesterase ในเม็ดเลือดแดง โดยพบว่ามีค่าลดลงมากกว่าร้อยละ 30 (จากค่าปกติ).



พิษคาร์บาเมต (carbamate poisoning)
โรคพิษกลุ่มนี้ มีผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเดียวกับออร์กาโนฟอสเฟต และก่อให้เกิดอาการเหมือนกัน. อย่างไรก็ตาม คาร์บาเมตมีกลไกในการยึดจับเอนไซม์ acetyl-cholinesterase ที่ไม่ถาวรเท่าออร์กาโนฟอสเฟต ทำให้ต้องรีบตรวจเลือดทันทีหลังสัมผัสและเกิดอาการ เพราะระดับเอนไซม์ลดลงสู่ระดับปกติ เร็วกว่าออร์กาโนฟอสเฟตมาก.


พิษไพรีทรอยด์ (pyrethroid)
สารไพรีทรอยด์มีอันตรายต่อร่างกายน้อยกว่า 2 กลุ่มแรก จึงนิยมใช้เป็นส่วนผสมของยากำจัดแมลงที่ใช้ฉีดพ่นหรือจุดภายในบ้านเรือน กลุ่มเสี่ยงจึงมักเป็นประชาชนทั่วไป มากกว่าผู้ทำงานในอุตสาหกรรมผลิตหรือเกษตรกรผู้ใช้สารเคมี.

โรคพิษจากสารกำจัดแมลงกลุ่มนี้ มักเกิดจากการได้รับเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอักเสบ (irritant contact dermatitis) เป็นผื่นคัน แสบร้อน ชา บริเวณที่สัมผัส โดยเฉพาะที่ใบหน้า และไม่สามารถตรวจหาระดับเอนไซม์ acetyl-cholinesterase ได้ เนื่องจากมีกลไกการออกฤทธิ์ต่างจากยา 2 กลุ่มแรก.


พิษสังกะสีฟอสไฟด์ (zinc phosphide poisoning)
อาการพิษจากสารกลุ่มนี้ เกิดจากการกินโดยไม่เจตนา ส่วนมากเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีกำจัดหนูหรือแมลงสัตว์แทะ รวมทั้งอาจเกิดจากการปนเปื้อนอาหารตามบ้านเรือน.
ลักษณะทางเวชกรรม ส่วนใหญ่มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อย่างรุนแรง. บางรายเกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลัน และบางรายมีอาการแน่นหน้าอก และหายใจลำบากร่วมด้วย. การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการใช้การตรวจหาสังกะสีฟอสไฟด์ในน้ำล้างกระเพาะอาหาร.

พิษพาราควอท (paraquat poisoning)
เกิดจากการได้รับพาราควอทเข้าสู่ร่างกายทางปากและผิวหนัง โดยมีประวัติการทำงานเกี่ยวข้องกับการผลิต บรรจุ ขนส่งและจำหน่าย รวมทั้งเกษตรกรผู้ใช้ยานี้ในการฆ่าหญ้าและวัชพืชต่างๆ เนื่องจากยา กลุ่มนี้เป็นยากำจัดวัชพืชที่ได้ผลดีมาก จึงนิยมใช้กันทั่วไป.

ลักษณะทางเวชกรรม แยกเป็นพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง อาการพิษเฉียบพลัน ทำให้เกิดแผลในปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก อาเจียน ปวดท้อง แสบร้อนในอก. ระยะต่อมาอาจเกิดปัสสาวะออกน้อย ไตวาย ตับอักเสบ หายใจหอบเหนื่อย และมีอัตราการเสียชีวิตสูงจากระบบอวัยวะหลายระบบไม่ทำงาน. บางครั้ง การสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดผิวหนังไหม้ เป็นแผลพุพอง ปวดแสบ ปวดร้อนและเล็บเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือเหลือง ถ้าเข้าตาอาจเกิดแผลที่กระจกตา (corneal ulcer). อาการพิษเรื้อรัง มักเกิดจากการสัมผัสทางผิวหนัง โดยมีอาการผื่นคัน ผิวหนังไหม้ ตาดำอักเสบ น้ำตาไหลมาก บางรายมีเลือดกำเดาไหล.

เนื่องจากไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับสารเคมีกลุ่มนี้ การวินิจฉัยอาศัยประวัติการสัมผัสและอาการที่สอดคล้องดังกล่าวมาแล้ว.


พิษไกลโฟเสด (glyphosate poisoning)
กลุ่มเสี่ยงต่อการใช้สารไกลโฟเสด คือ คนรับจ้างทำสวนตามบ้านหรือสถานที่ทำงานต่างๆ และคนงานในสนามกอล์ฟ เนื่องจากต้องใช้ยากลุ่มนี้ในการกำจัดวัชพืชในสนามหญ้า อนึ่ง เนื่องจากพาราควอทมีพิษร้ายแรงจนเสียชีวิตได้ ในระยะหลังๆ ผู้ใช้ยากำจัดวัชพืช จึงหันมาใช้ยากลุ่มนี้แทน.

อาการพิษเกิดจากการได้รับไกลโฟเสดทางปากหรือผิวหนัง อาการพิษเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไอแห้งๆ แน่นหน้าอก. ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีอาเจียนปนเลือด ปัสสาวะออกน้อย ไตวายและปอดบวมน้ำ (pulmonary edema). การสัมผัสทางผิวหนังทำให้เกิดผื่นคัน แสบตา เคืองตาและ เจ็บแสบในลำคอ และอาจมีอาการพิษเรื้อรังจากการสัมผัสทางผิวหนัง โดยเป็นผื่นคัน ผิวหนังไหม้ ตาดำอักเสบ น้ำตาไหลมาก. บางรายมีเลือดกำเดาไหลการวินิจฉัยใช้ประวัติการสัมผัสเช่นเดียวกับการสัมผัสพาราควอท เนื่องจากไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ.



ส่งท้าย
ท่านผู้อ่านอาจรู้สึกว่าโรคพิษจากสารเคมีทาง การเกษตรเหล่านี้ไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องรายงานหรือรายงานแล้วไม่เกิดผลใดๆต่อท่านหรือเกษตรกร. แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเจ็บป่วยจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรเกิดขึ้นบ่อยมากและอาจมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าสารเคมีทางอุตสาหกรรมเสียอีกแต่มักไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ทำให้มีตัวเลขสถิติน้อยกว่าความจริง หรือมีแต่เพียงตัวเลขการตรวจระดับเอนไซม์ acetyl-cholinesterase ด้วยชุดตรวจ (test kit) ที่เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยทำเป็นประจำแต่ยังขาดข้อมูลอาการและอาการแสดง (signs and symptoms) ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ โดยเฉพาะที่รุนแรงจนเสียชีวิต เช่น กรณีพาราควอท หรือที่ก่อให้เกิดอาการตามมาจนพิการหรือคุณภาพชีวิตลดลง เช่น กรณีเส้นประสาทเป็นอัมพาตจากการได้รับออร์กาโนฟอสเฟตปริมาณมาก.


หากมีข้อมูลการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ประกอบกับผลการตรวจเอนไซม์ (ก่อนเกิดการเจ็บป่วย) และการวินิจฉัยอาการพิษจากแพทย์ จะทำให้เห็นขนาด และความรุนแรงของปัญหาสารพิษทางการเกษตรที่ชัดเจนขึ้น นำไปสู่การสร้างมาตรการ นโยบาย แม้แต่การบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคที่ต้องสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรปลอดภัยมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน.



เอกสารอ้างอิง
1. แสงโฉม เกิดคล้าย, บรรณาธิการ. แนวทางการวินิจฉัยเพื่อการรายงานโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2547 (สิงหาคม) : หน้า 48-53.


ฉันทนา ผดุงทศ พ.บ.,DrPH in Occupational Health, สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข  

----------------------------------------------------------------------

1. สวัสดิภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ปัจจุบันเกษตรกรทั้งหลาย มีความต้องการในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้น และเนื่องจาก คุณภาพของดินเสื่อมโทรมลง เกษตรกรจึงได้นำเอาสารเคมี กำจัดศัตรูพืช และสัตว์ มาใช้กันอย่างไม่จำกัด ทั้งในแง่ของประเภทสารเคมี และวิธีการใช้สารเคมีหลายชนิดผสมกัน เพื่อหวังให้เกิดประสิทธิภาพ และจำนวนผลผลิตให้มากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าอัตราการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่างๆ จะเริ่มลดลง แต่ยังคงมีปริมาณที่มากอยู่ นอกจากนี้ เกษตรกรทั้งหลายยังนำเทคโนโลยี หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ นำเครื่องจักรกล และเครื่องทุ่นแรงชนิดแปลกใหม่หลายอย่าง เข้ามาใช้ในทางเกษตรกรรม แต่ขณะเดียวกัน เกษตรกรก็ยังขาดความรู้ เกี่ยวกับปริมาณการใช้ และวิธีการใช้สารเคมีที่ถูกต้อง จึงทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และสวัสดิภาพของเกษตรกร และครอบครัว ส่วนสารเคมีต่างๆ ที่เกษตรกรใช้ก็จะตกค้างในอาหาร เช่น พืช ผัก ผลไม้ และทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ และอากาศด้วย จึงเป็นอันตรายต่อประชาชนโดยส่วนรวม สำหรับประชาชนโดยส่วนรวม สำหรับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรือเครื่องทุ่นแรงทั้งหลาย หากเกษตรกรขาดความรู้ ความชำนาญ ในการใช้ที่ถูกต้อง และไม่รู้จักระมัดระวังให้ปลอดภัย ย่อมจะก่อให้เกิดอันตราย หรืออุบัติเหตุได้เช่นเดียว 

    1.1 ลักษณะอุบัติเหตุและอันตรายในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

  ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาจประสบอันตรายทั้งต่อสุขภาพทั้งต่อสุขภาพและสวัสดิภาพได้ ดังนี้

1. อันตรายต่อสุขภาพ
ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมส่วนใหญ่ จะได้รับอันตรายจากสารเคมี และฝุ่นละอองต่างๆ ปัจจุบัน เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดแมลง และกำจัดศัตรูพืชกันมาก โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดแมลง ประเภทออร์กาโนฟอสเฟต เช่น ฟอสดริน พาราไธออน มาลาไธออน ฯลฯ และสารเคมีประเภทคาร์บาเมต เช่น เซพริน แลนเนต ฟูราแดน เทมมิค เป็นต้น ซึ่งสารเคมีต่างๆ เมื่อเข้าสู่ร่างกายทั้งทางปาก ลมหายใจ แลผิวหนัง จะทำให้เกิดอันตราต่อร่างกาย ดังนี้

1. อาการระคายเคืองที่ตา น้ำตาไหล ตาแดง ตาพร่ามัว
2. น้ำมูก น้ำตาไหล คล้ายเป็นไขหวัด
3. อาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ อาเจียน หมดสติ หรืออาจเสียชีวิตได้
4. ระคายเคืองที่ผิวหนัง ผิวหนังเป็นผื่น มีอาการแพ้ ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ กลายเป็นโรคผิวหนังได้
5. อาการชาตามมือเท้า อาจเป็นอัมพาตได้
6. ชักกระตุกที่กล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
7. การสะสมของสารเคมีป้องกันศัตรูพืช ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการแบ่งตัว และการเจริญเติบโตของเซล เกิดเป็นเซลมะเร็งขึ้น
8. ฝุ่นละอองจากฟางข้าว ผ้าย และชานอ้อย จะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ เกิดเยื่อพังผืดที่ปอด ปอดอักเสบหรือพิการ กลายเป็นมะเร็ง และเป็นโรคต่างๆ เกี่ยวกับปอดได้ เช่น โรคปอดชานอ้อย โรคปอดชาวนา เป็นต้น

2. อันตรายต่อสวัสดิภาพ
อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้จาการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนี้

1. การถูกเครื่องมือ เครื่องจักรที่แหลมคมทิ่มแทงหรือหล่นทับ
2. การพลัดตกหกล้ม เช่น การตกจากที่สูง การตกจากรถแทรกเตอร์
3. การถูกใบพัดและสายพานเครื่องยนต์ ถูกไฟฟ้าดูด
4. การถูกไฟป่า ถูกฟ้าผ่า หรือพายุพัด 

1.2 สาเหตุของการเกิดอันตรายจากอาชีพเกษตรกรรม

อันตรายจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาจเกิดจากสาเหตุสำคัญดังนี้
1. คน 2. สิ่งแวดล้อม
คน
นับว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอันตราย หรืออุบัติเหตุจาการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ สาเหตุสำคัญมีดังนี้

1. สภาพร่างกายที่อ่อนแอ ไม่แข็งแรง เจ็บป่วย หรือมีอาการอ่อนเพลียขณะปฏิบัติงาน ย่อมก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
2. สภาพจิตใจที่ไม่เป็นปกติ มีความวิตกกังวล กระวนกระวาย หรือใจร้อนจนเกินไป ก็ทำให้เกิดการผิดพลาดได้
3. การขาดความรู้ความชำนาญ หรือไม่มีประสบการณ์ในการใช้สารเคมี ใช้เครื่องจักรกล เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ย่อมก่อให้เกิดอันตราย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
4. การมีสวัสดินิสัยที่ไม่ดีในเรื่องการทำงาน มีความประมาท เลินเล่อ ขาดการระมัดระวัง เอาใจใส่ในการทำงาน ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน

สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่สำคัญเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีดังนี้

1. สารเคมีและเคมีภัณฑ์ต่างๆ เช่น สารฆ่าแมลง สารเคมีกำจัดวัชพืช ฯลฯ ซึ่งอาจใช้ไม่ถูกวิธี รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดความระมัดระวังในการใช้ย่อมเกิดอันตรายได้เสมอ
2. ฝุ่นละอองต่างๆ เช่น ฝุ่นฝางข้าว ฝุ่นฝ้าย ฝุ่นจากชานอ้อย ฯลฯ หากผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ขาดความระมัดระวังหรือไม่ใช้ผ้ากันฝุ่นปิดปากและจมูก ก็ต้องสูดดมและทำให้ปอดเกิดอันตรายได้
3. เชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิต ริคเกตเซีย ฯลฯ ทำให้เกิดโรค เช่น โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โดยเชื้อเข้าทางบาดแผลของคนที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ ของสัตว์ที่เป็นโรค โรคจากเชื้อบาดทะยักที่เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล เป็นต้น
4. เครื่องมือและเครื่องจักรกล เช่น จอบ เสียม มีด คราด ขวาน รถไถนา เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร หรือเครื่องทุ่นแรงต่างๆ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เนื่องจากผู้ใช้ ขาดการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพ ใช้งานได้ดี หรือขาดความระมัดระวังในการใช้ ไม่มีทักษะในการใช้เครื่องมือต่างๆ ย่อมเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
5. สัตว์และพืชต่างๆ เช่น ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย ถูกพิษจากพืชพวกตำแย หมามุ่ย เห็ด เป็นต้น
6. ภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น พายุ น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า ฟ้าผ่า ทำให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุได้ หากขาดความระมัดระวัง หรือไม่ฟังข่าวคราวจากสถานีวิทยุ

1.3 การป้องกันอันตรายในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
การป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุจากการประกอบอาชีพ อาจทำได้ดังนี้

1. ด้านตัวบุคคล
1. ควรดุแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ หากเจ็บป่วยไม่ควรทำงาน
2. ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอันตรายหรืออุบัติเหตุต่างๆ เพื่อให้รู้จักระมัดระวังอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นขณะปฏิบัติงาน
3. ขณะทำงาน พยายามทำจิตใจให้ผ่องใส่ ทำงานด้วยความตั้งใจ ระมัดระวัง ไม่คิดถึงเรื่องอื่น หรือมีอาการเหม่อลอย
4. ควรทำงานตามความสามารถของตน ไม่หักโหม และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ยาม้า เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ฯลฯ
5. ปฏิบัติตามคำแนะนำ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
6. ระมัดระวังในการใช้สารเคมี เครื่องมือ เครื่องจักร ก่อน และหลังการใช้อุปกรณ์ หรือเครื่องมือ ควรทำความสะอาด และจัดเก็บอย่างเรียบร้อย

2. ด้านสิ่งแวดล้อม

2.1 การป้องกันด้านสารเคมี
2.1.1 ศึกษาหรืออ่านฉลากบนขวดสารเคมีให้เข้าใจถ่องแท้ ถูกต้องก่อนการใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
2.1.2 ผู้จะใช้สารเคมีฉีดพ่น ควรแต่งกายให้เหมาะสม สวมหมวก เสื้อแขนยาวปิดมิดชิด สวมหน้ากาก ถุงมือยาง รองเท้าหุ้มส้น และหลังจากฉีดพ่นสารเคมีเสร็จแล้ว จะต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที นำชุดเสื้อผ้า ถุงมือ ซักน้ำหลายครั้ง และอาบน้ำทันที
2.1.3 รู้จักเลือกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ให้ถูกต้อง เหมาะสมและถูกชนิด ไม่ควรใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น สารฆ่าแมลงชนิดปากกัด พวกตั๊กแตน มด ก็ไม่นำไปใช้กับแมลงชนิดปากดูด พวก ยุง แมลงวัน
2.1.4 ในการใช้สารเคมี ควรใช้ตามสัดส่วนที่ระบุ ห้ามใช้ปากเปิดขวดสารเคมี เวลาแก้หีบห่อ หรือเปิดภาชนะบรรจุยา ก็ต้องระวังอย่าให้แตกหัก หรือปลิวฟุ้งกระจาย เมื่อผสมสารเคมีก็ไม่ควรใช้มือกวน หรือสัมผัสสารเคมี ให้ใช้เศษไม้กวน และระมัดระวังอย่างให้สารเคมีหกรดผิวหนัง โดยเฉพาะตาและปาก หรือเสื้อผ้าเครื่องใช้ หากหกรดให้รีบล้างน้ำและฟอกสบู่ทันที และอาบน้ำ พร้อมทั้งเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ด้วย
2.1.5 ขณะฉีดพ่นสารเคมี ต้องอยู่เหนือผม และใช้เวลาฉีดพ่นไม่เกิน 4-5 ชั่วโมง หากมีลมแรงควรหยุดฉีด ควรระมัดระวัง ไม่หายใจเอาละอองหรือไอ และอย่างให้ละอองยาปลิวลงที่พักอาศัย บ่อน้ำ หรือภาชนะบรรจุน้ำหรืออาหาร รวมทั้งไม่ฉีดพ่นยาบริเวณที่มีเด็กและไม่รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือสูบบุหรี่ในขณะฉีดพ่นสารเคมี
2.1.6 เมื่อฉีดพ่นยาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรล้างมือและอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า
2.1.7 ควรเก็บสารเคมีให้เป็นที่เป็นทางมิดชิด ห่างไกลมือเด็ก และไม่เก็บไว้ใกล้อาหาร และภาชนะใส่อาหารต่างๆ
2.1.8 ภาชนะบรรจุสารเคมี ห้ามนำไปล้างในสระน้ำ คลอง บ่อ หรือธารน้ำสาธารณะ เมื่อใช้หมดแล้ว ควรนำไปทำลายโดยการฝังดิน ถ้าใช้ไม่หมอให้เก็บให้ดีปิดป้ายบอกให้ชัดเจน อย่าเปลี่ยนภาชนะที่บรรจุ เช่น ขวดน้ำหวาน ขวดนำอัดลม ฯลฯ เพราะอาจเกิดการเข้าใจผิดได้ และไม่ควรนำภาชนะที่บรรจุสารเคมีที่ใช้แล้ว ไปล้างเพื่อเอาไปบรรจุน้ำดื่มและอาหาร
2.1.9 ควรระมัดระวังพาตกค้างในพืชผล โดยไม่บริโภคพืชผลที่พ่นยาไว้ก่อนถึงกำหนด ที่ยาจะสลายตัว เช่น ผลไม้ ไม่ควรเก็บก่อน 30 วัน หลังจากฉีดยา ผักไม่ควรเก็บก่อน 60 วัน หลังจากฉีดยา
2.1.10 การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม หากเป็นไปได้ ควรหาสิ่งทดแทนการใช้สารเคมี หรือยากำจัดศัตรูพืช เช่น ให้กัมมันตภาพรังสี ใช้สารเคมีทำให้แมลงเป็นหมัน การใช้วิธีทางชีววิทยา โดยการทำให้เกิดการทำลายกันเองระหว่างแมลงด้วยกันหรือศัตรูพืช เช่นนำยาฆ่าแมลงไปฆ่าไร กำจัดวัชพืช กำจัดโรคพืช พวกเชื้อรา แบคทีเรีย ยาฆ่าหนู ฆ่าไส้เดือน ฝอย กำจัดหอยทาก ฯลฯ

2.2 การป้องกันด้านฝุ่นละออง
2.2.1 ควรพยายามหลีกเลี่ยง การสูดดมฝุ่นละอองให้มากที่สุด
2.2.2 ควรลดเวลาการทำงานที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละออง เช่น ฝุ่นฝ้าย ฝุ่น ชานอ้อยโดยลดจำนวนเวลาลง และสับเปลี่ยนหมุนเวียนบุคคลในการทำงาน เพื่อมิให้ผู้ที่ทำงานต้องสัมผัสกับฝุ่นตลอดเวลา
2.2.3 ควรใช้เครื่องป้องกันฝุ่น หรือเครื่องกรองฝุ่น เช่น หน้ากาก ผ้าปิดจมูก หรือปิดจมูก โดยมีแผ่นกรองบางๆ (Filter Pad) ซึ่งจะเป็นตัวจับฝุ่นเอาไว้ไม่ให้เข้าไปกับอากาศที่ผ่านเข้าไป

2.3 การป้องกันด้านเครื่องมือเครื่องจักรกล
2.3.1 ควรศึกษาวิธีการใช้เครื่องมือเครื่องใช้หรือเครื่องจักรกล และใช้ให้ถูกต้องตามคำแนะนำหรือคู่มือการใช้อย่างเคร่งครัด
2.3.2 ควรระมัดระวังในการใช้เครื่องมือเครื่องจักรกล และไม่เข้าไปใกล้เครื่องจักรกลขณะทำงานอยู่ เช่น อย่าเข้าใกล้เครื่องเก็บข้าวโพด ขณะที่เครื่องกำลังทำงานอยู่ เป็นต้น
2.3.3 ควรพักเครื่องจักรบ้าง หากเครื่องจักรชำรุด ต้องหยุดเครื่องก่อนแก้ไข และคอยดูแล ให้เครื่องจักร เครื่องมืออยู่ในสภาพใช้งานได้ดีอยู่เสมอ
2.3.4 ผู้ที่ทำงานกับเครื่องจักรกล ต้องใส่เครื่องป้องกันอันตราย เช่นหมวก แว่นตา ฯลฯ
2.3.5 หลังจากใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ แล้วควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัย และเป็นระเบียบเรียบร้อย

2.4 การป้องกันด้านพืชและสัตว์ที่มีพิษต่างๆ
2.4.1 ควรเก็บกวาดที่พักอาศัย ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์แมลงมีพิษ
2.4.2 ควรระมัดระวังอย่าเข้าไปใกล้ในที่รกชัน
2.4.3 ควรระมัดระวังในการเก็บพืชป่ามารับประทาน หรือไม่รับประทานพืชที่มีลักษณะแปลกๆ

2.5 การป้องกันด้านภัยธรรมชาติ
2.5.1 ควรศึกษาข้อมูล รับฟังข่าวความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสภาพดินฟ้าอากาศและข้อแนะนำต่างๆ ในกรณีที่อาจเกิดพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว
2.5.2 ควรหลบหลีก หรือหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตราย เช่น ขณะที่มีพาย ุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้อง น้ำท่วม เป็นต้น
2.5.3 หาดจะต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วม ควรเตรียมอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และเรือแพ (ถ้ามี) และคอยฟังประกาศของทางราชการ 

ขอบคุณเวป  www.ipesp.ac.th/learning/supitcha/html/G6-3.html ที่ได้ให้เรานำมาเผยแพร่ 

คัดลอกและนำเสนอ โดย นาย ปัทมพงษ์ จป วิชาชีพรุ่น 226  

กล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50 เครือใหญ่ ผลดก< อ่านรายละเอียด>

ความแตกต่างระหว่างชมพูเพชรสายรุ้ง & ชมพู่เพชรสุพรรณ <อ่านรายละเอียด>

 

 ป้าเป็นคนชอบเดินทางท่องเที่ยว อยู่กรุงเทพนานๆ ไม่ค่อยได้ ออกแนวพระรามเดินดงอยู่เล็กน้อย นายปัทม์ก็ชอบเที่ยวเหมือนกันแต่เราเที่ยวกันคนละรูปแบบ นายปัทม์มีครอบครัวแล้วไปไหนก็ต้องดูให้สะดวกสบาย แต่สำหรับป้าอ้อนี่นึกไปไหนก็ไปได้ เข้าป่า เที่ยวเมืองล้วนไม่ติดขัด ด้วยเหตุนี้เวลาปลูกต้นไม้ถึงไม่ค่อยจะได้ผล เพราะไม่ค่อยได้รดน้ำดูแล คนเราจะให้ถนัดไปทุกอย่างได้ไง ป้าเลยสร้างมุมในเวปบ้านสวนพชรที่ตัวเองถนัดดีกว่า การได้รู้ ได้เห็นแล้วนำมาให้คนอื่นดู ถือเป็นการแบ่งปันนะคะ ดูภาพกันสวยๆ click ตามหัวข้อเลยค่ะ @_@

สวรรค์สุดขอบฟ้า แชงกรีล่าในใจคุณ
มนต์เสน่ห์แห่งเนปาล

ชีวิตเดินช้าที่พม่า
เวียดนามกลาง-ใต้
ซาปาและนาขั้นบันไดที่หยวนหยาง

ทุบกระปุกบุกเกาะชวา
บาหลีดินแดนแห่งเทพเจ้า

เขาสอยดาวใต้
Kangchenjunga Sikkim
เส้นทางสายบางตะบูน

           นายปัทมฯ  e-mail /msn : n_vand04@hotmail.com
                  mobilephone:081-694-0200 , 084-563-0782

ID LINE : ppn1972
               


สถิติเข้าชมบ้านสวนพชร

จำนวนผู้มาเยี่ยมสวนพชร

- Designed by EZwpthemes Drupalized by Azri Design